กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (Rules of Origin)

Rules of Origin

กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (Rules of Origin) เป็นกฎเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นเพื่อใช้กำหนดสัญชาติของสินค้า เนื่องจากปัจจุบันการผลิตสินค้าอาจไม่ได้ผลิตภายในประเทศหนึ่งประเทศใดเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่มีการนำเข้าวัตถุดิบ หรือ ชิ้นส่วนจากหลายประเทศ เพื่อให้การผลิตสินค้ามีต้นทุนต่ำที่สุด กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า จึงเป็นเกณฑ์มาตรฐานสำหรับใช้จำแนกว่าสินค้านั้นมีแหล่งกำเนิด ณ ประเทศใด

ประเภทของกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า

  • กฎการใช้วัตถุดิบในประเทศทั้งหมด (Wholly Obtained : WO)
  • กฎการแปรสภาพอย่างเพียงพอ (Substantial Transformation : ST)
 

กฎการใช้วัตถุดิบในประเทศทั้งหมด (Wholly Obtained : WO)

กฎนี้ใช้กับสินค้าส่งออกที่ผลิตขึ้นโดยใช้วัตถุดิบในประเทศทั้งหมด หรือ สินค้าที่ทั้งหมดได้จากประเทศผู้ส่งออก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์แร่ธาตุ ที่สกัดจากพื้นดิน พื้นน้ำ หรือ ท้องทะเลของประเทศนั้น ผลิตผลทางการเกษตร ซึ่งเก็บเกี่ยวได้ในประเทศนั้น สัตว์ที่มีกำเนิดและเลี้ยงเติบโตในประเทศนั้น เป็นต้น

กฎการแปรสภาพอย่างเพียงพอ (Substantial Transformation : ST) 

ในกรณีที่สินค้าไม่ได้ใช้วัตถุดิบในประเทศทั้งหมด สินค้าจะได้แหล่งกำเนิดสินค้าจะต้องเป็นสินค้าที่ได้ผ่านกระบวนการผลิตภายในประเทศที่ทำให้สินค้านั้นมีการเปลี่ยนแปลงสภาพอย่างเพียงพอ หรือ ถ้ามีมากกว่าหนึ่งประเทศเกี่ยวข้องในกระบวนการผลิต จะพิจารณาให้กับประเทศที่กระบวนการผลิตทำให้มีการเปลี่ยนแปลงสภาพอย่างเพียงพอครั้งสุดท้าย (Last Substantial Transformation) การพิจารณาว่าสินค้าที่มีกระบวนการผลิตโดยการแปรสภาพอย่างเพียงพอพิจารณาได้จาก 3 ลักษณะ ดังนี้
  • การใช้สัดส่วนมูลค่าเพิ่มภายในประเทส (Regional Value Content : RVC)
  • การเปลี่ยนพิกัดอัตราศุลกากร (Change in Tariff Classification : CTC)
  • เกณฑ์การใช้กระบวนการผลิต (Processing Operation)

การใช้สัดส่วนมูลค่าเพิ่มภายในประเทศ (Regional Value Content : RVC)

การใช้สัดส่วนมูลค่าเพิ่มภายในภูมิภาค (Regional Value Content : RVC) หรือ วัตถุดิบภายในประเทศ (Local Content : LC) เป็นการกำหนดอัตราส่วนต่ำสุดของวัตถุดิบภายในประเทศที่ใช้ในการผลิตที่ถือว่าประเทศนั้นเป็นแหล่งกำเนิด เช่น อาเซียนกำหนดสัดส่วนวัตถุดิบภายในประเทศผู้ผลิตไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของสินค้าสำเร็จรูปที่ส่งออก

การเปลี่ยนพิกัดอัตราศุลกากร (Change in Tariff Classification : CTC) เกณฑ์การเปลี่ยนพิกัดอัตราศุลกากรนี้จะพิจารณาเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างเลขพิกัดอัตราศุลกากรของวัตถุดิบที่นำเข้า กับเลขพิกัดอัตราศุลกากรของสินค้าส่งออกที่เปลี่ยนไปโดยสินค้าจะสามารถได้แหล่งกำเนิด เมื่อนำเข้าวัตถุดิบมาผ่านกระบวนการผลิตแล้ว มีการเปลี่ยนจากประเภทพิกัดฯ หนึ่งไปเป็นสินค้าในประเภทพิกัดฯ อื่น ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงพิกัดอัตราศุลกากรแบ่งได้ 3 ระดับ คือ
  • การเปลี่ยนแปลงพิกัดฯ ในระดับ 2 หลัก (Change of Chapter : CC)
  • การเปลี่ยนแปลงพิกัดฯ ในระดับ 4 หลัก (Change of Tariff Heading : CTH)
  • การเปลี่ยนแปลงพิกัดฯ ในระดับ 6 หลัก (Change of Tariff Subheading : CTSH)

การเปลี่ยนแปลงพิกัดฯในระดับ 2 หลัก (Change of Chapter : CC) หรือ การเปลี่ยนพิกัดในระดับตอนพิกัด

การเปลี่ยนแปลงพิกัดฯในระดับ 2หลัก (Change of Chapter : CC) หมายถึง สินค้าจะได้แหล่งกำเนิดเมื่อนำเข้าวัตถุดิบมาผ่านขบวนการผลิตแล้วทำให้พิกัดสินค้าส่งออกเปลี่ยนแปลงจากตอนพิกัดหนึ่งเป็นตอนพิกัดอื่น เช่น การผลิตน้ำสับปะรด ซึ่งเปลี่ยนจากสับปะรดสดตอนพิกัด 08 (0804.30) เป็นนำสับปะรดตอนพิกัด 20 (2009.41) เป็นต้น

การเปลี่ยนแปลงพิกัดฯในระดับ 4 หลัก (Change of Tariff Heading : CTH) หรือ การเปลี่ยนพิกัดในระดับประเภทพิกัด

การเปลี่ยนพิกัดฯในระดับ 4 หลัก (Change of Tariff heading : CTH) หมายถึงสินค้าจะได้แหล่งกำเนิดเมื่อนำเข้าวัตถุดิบมาผ่านขบวนการผลิตแล้วมีการเปลี่ยนจากประเภทพิกัดหนึ่งไปเป็นสินค้าในประเภทพิกัดอื่น เช่น ไม้ท่อนถากเอกเปลือกออกแล้ว (พิกัด 4403) นำเข้ามาแปรรูปเป็นแผ่นไม้พลายวู้ด (พิกัด 4408)

การเปลี่ยนแปลงพิกัดฯในระดับ 6 หลัก (Change of Tariff Subheading : CTSH) หรือ การเปลี่ยนพิกัดในระดับประเภทพิกัดย่อย

การเปลี่ยนแปลงพิกัดฯในระดับ 6 หลัก (Change of Tariff Subheading : CTSH) หมายถึง สินค้าจะได้แหล่งกำเนิดเมื่อนำเข้าวัตถุดิบมาผ่านกระบวนการผลิตแล้ว มีการเปลี่ยนจากประเภทพิกัดย่อยหนึ่งไปเป็นสินค้าในประเภทพิกัดย่อยอื่น เช่น ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ (แซสซีส์) (พิกัด 8415.90) นำเข้ามาแปรรูปเป็นเครื่องปรับอากาศแบบติดหน้าต่าง (พิกัด 8415.10)

เกณฑ์การใช้กระบวนการผลิต (Processing Operation) 

เป็นเกณฑ์การได้แหล่งกำเนิดโดยผ่านกระบวนการผลิต (Processing Operation) เป็นการพิจารณาการผลิตจากกระบวนการผลิตจากวัตถุดิบนำเข้าจนได้สินค้าส่งออกที่มีสาระแตกต่างไป โดยไม่คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงพิกัดอัตราศุลกากรของสินค้านั้น ซึ่งอาจจะมีหรือไม่มีการเปลี่ยนเลขพิกัดอัตราศุลกากรแต่อย่างใดก็ได้ เช่น การใช้ปฏิกริยาทางเคมี (Chemical Reaction) การทำให้บริสุทธิ์ (Purification) เป็นต้น

  หลักเกณฑ์การสะสมถิ่นกำเนิดสินค้า (Accumulation) เป็นกรณีที่สินค้าได้แหล่งกำเนิดในประเทศหนึ่ง ถูกนำมาใช้เพื่อเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตสินค้าสำเร็จรูป ในอีกประเทศหนึ่งเพื่อให้ได้แหล่งกำเนิดสินค้าตามข้อตกลงง่ายขึ้น

  หลักเกณฑ์มูลค่าขั้นต่ำในการผ่อนปรน (De Minimis) สินค้าที่ไม่ผ่านการเปลี่ยนพิกัดอัตราศุลกากรจะถือว่าได้ถิ่นกำเนิด ถ้ามูลค่าของวัสดุที่ไม่ได้ถิ่นกำเนิดที่ใช้ในการผลิตสินค้าซึ่งไม่ผ่านการเปลี่ยนพิกัดอัตราศุลกากรที่กำหนด คิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 10 ของมูลค่า FOB ของสินค้า และสินค้านั้นเป็นไปตามหลักเกณฑ์การได้ถิ่นกำเนิดอื่นๆที่กำหนด

  ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการดำเนินการและการแปรสภาพเพียงเล็กน้อย (Minimal Operation) ถ้าสินค้านั้นนำเข้ามาเพื่อส่งออกโดยไม่ผ่านกระบวนการแปรสภาพอย่างเพียงพอถือว่าสินค้านั้นไม่ได้กฎแหล่งกำเนิดสินค้า เช่น การนำมาคัดเลือกขนาด ทำความสะอาด หรือ บรรจุหีบห่อเพื่อส่งออก การเก็บรักษาสินค้าให้อยู่ในสภาพดี เพื่อการขนส่งหรือการจัดเก็บ

  ที่มา: http://fta.dft.go.th/LinkClick.aspx?fileticket=F5oN8Gpwp4o%3D&tabid=83&mid=421

ติดต่อสอบถามได้ที่
 A&B Associated Co., Ltd.
Tel. 02-671-4389
Fax. 02-671-4387
E-mail: contact@abassociated.com 
Facebook: www.facebook.com/Shipping.AB 
Line@: @abassociated